วันเสาร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2560

> ปรวัติกิจการ บ.พ. ไทย

ประวัติกิจการผู้บำเพ็ญประโยชน์ไทย

กิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์เริ่มขึ้นจากการที่นางสาวกนก สามเสน (ปัจจุบัน คือ ดร.คุณหญิงกนก สามเสน วิล ) ได้ไปดูงานและเยี่ยมชมกิจการของ The Girl Scouts Association of U.S.A ที่นครนิวยอรค์ เนื่องในโอกาสเข้าร่วมสัมมนากับ Committee of Correspondence เมื่อ พ.ศ. 2499
          จากความประทับใจในกิจกรรมการทำงานของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ การที่ได้พบเห็น Girl Scouts เป็นบุคคลที่คล่องแคล่ว มีบุคลิกภาพดี และแต่งตัวเก๋ ท่านจึงเห็นว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็กผู้หญิงเป็นอย่างยิ่ง  เมื่อกลับมาเมืองไทย คุณหญิงกนก ซึ่งเป็นกรรมการของสมาคมสตรีอุดมศึกษาสมัยนั้นได้รับอาสาเป็นผู้ดำเนินงานกลุ่มผู้บำเพ็ญประโยชน์ สโมสรปรียา เครือหนังสือพิมพ์สตรีสาร ซึ่งมีการชุมนุมที่สมาคมสตรีอุดมศึกษา ถนนรองเมือง กรุงเทพฯ หลังจากที่มีกิจกรรมไป 3-4 ครั้งก็ได้นำเรื่องราวที่พบเห็น มาเล่าให้สมาชิกกลุ่มผู้บำเพ็ญประโยชน์ฟัง สมาชิกให้ความสนใจมาก มีความกระตือรือร้นที่จะรับการฝึกบ้าง  ท่านจึงได้นำเรื่องราวทั้งหมดปรึกษากับคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง และคณะกรรมการสมาคมสตรีอุดมศึกษา ขณะนั้นมีอาจารย์สมัยสวาท พงศ์ทัต เป็นนายกสมาคม ทุกคนไม่ขัดข้องจึงได้ติดต่อไปยัง Committee of Correspondence ให้ช่วยหาเอกสารให้ องค์การนี้จึงติดต่อไปยัง Girl Scouts of U.S.A. ภายในสองสัปดาห์ ก็ได้รับหนังสือคู่มือต่างๆ ขณะเดียวกัน Girl Scouts of U.S.A. ได้แจ้งองค์กรผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งโลก หรือ The World Association of Girl Guide and Girl Scouts ให้ทราบด้วย
          เดือนมีนาคม ปี 2500 องค์การโลกได้ส่ง Miss Mildred Mode ปัจจุบันคือ Mrs. Mildred Owenhuge ซึ่งเป็น Traveling commissioner ของภาคพื้นเอเชีย และ Miss Marie de Figuredo ผู้ฝึกจากฮ่องกง มาช่วยฝึกเยาวสตรีเป็นผู้จัดกิจกรรม (หัวหน้าหมวด) Girl Guides ที่สมาคมสตรีอุดมศึกษา ถนนรองเมือง ผู้รับการฝึกส่วนใหญ่ คือ นิสิตและนักศึกษามหาวิทยาลัย จำนวน 20 คน สมาชิกกลุ่มแรกนี้สอบผ่านและปฏิญาณตนเมื่อเดือน มีนาคม 2500 จำนวน 18 คน ผู้รับปฏิญาณตน คือ  Miss Helen Mc Swinny ต่อมาผู้ที่ได้รับการฝึกเป็นหัวหน้าหมวด Girl Guides ได้เปิดหมวดสมาชิก Girl Guides หมวดแรก คือ กลุ่มผู้บำเพ็ญประโยชน์ของสโมสรปรียา และสมาชิกกลุ่มแรก เป็นผู้ลงคะแนนเสียงให้เรียก Girl Guides ว่า “ผู้บำเพ็ญประโยชน์” เพราะเห็นว่าเป็นชื่อที่แสดงความหมายที่เข้าใจ คณะอนุกรรมการได้มีโอกาสเข้าเฝ้ากรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้ขอประทานข้อคิดเห็นถึงชื่อว่าอย่างใดจะเหมาะสมกับเรื่องราวดีอยู่แล้ว
          นอกจากตั้งชื่อแล้ว สมาชิกกลุ่มแรกยังเป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายของผู้บำเพ็ญประโยชน์ด้วย โดยถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ เครื่องแบบที่ยังคงยึดถืออยู่จนถึงปัจจุบัน คือ เสื้อสีฟ้าอมเทา สวมหมวกเบเร่ต์สีกรมท่า มีตราสมาคมสีแดงติดหน้าหมวก เข็มขัดหนังสีดำ หัวเข็มขัดมีตราสมาคมอยู่ตรงกลาง

          เนื่องจากสมาคมสตรีอุดมศึกษา เป็นสมาชิกสหพันธ์สมาคมสตรีอุดมศึกษาระหว่างประเทศ จำเป็นต้องมีกฎพิเศษ และกฎข้อหนึ่ง คือ สมาชิกของสมาคมสตรีอุดมศึกษาจะต้องเป็นผู้จบปริญญาตรี หรือผ่านการเรียนระดับอุดมศึกษาอย่างน้อย 2 ปี จึงเห็นว่าถ้าจะให้กลุ่มผู้บำเพ็ญประโยชน์ได้มีการขยายกิจการให้กว้างขวาง จะต้องมีสมาชิกเพิ่ม และสมาชิกส่วนมาก คือ บุคคลทั่วไปซึ่งไม่ได้ผ่านการศึกษาขั้นปริญญา อีกประการหนึ่ง การที่องค์การผู้บำเพ็ญประโยชน์แต่ละประเทศจะเป็นสมาชิกองค์การผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งโลก จำเป็นต้องยึดหลักการในข้อหนึ่งนั้น คือองค์การต้องเป็นอิสระ อนุกรรมการขณะนั้นจึงมีมติให้แยก “กลุ่มผู้บำเพ็ญประโยชน์” จากสมาคมสตรีอุดมศึกษาและตั้งเป็นสมาคมโดยเอกเทศขึ้น โดยใช้ชื่อว่า สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย  (THE GIRL GUIDES ASSOCIATION OF THAILAND)